TICAC

ความเป็นมาของ TICAC

สืบเนื่องจากเมื่อปี 2552 สหประชาชาติ และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา มีรายงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นภาพลามกอนาจารเด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปี) และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กเพื่อการค้า ซึ่งเป็นปัญหารุนแรงต่อเนื่อง ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆทางตะวันตก แต่ประเทศเหล่านั้นได้จัดตั้งหน่วยงานที่เข้าไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว แต่ในประเทศไทย ยังไม่มีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ จึงถูกมองว่าเพิกเฉยต่อปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศของเด็ก

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2558 พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายฯ “การต่อต้านการค้ามนุษย์” เป็นวาระแห่งชาติ จากนั้นวันที่ 8 ม.ค. 2559 ได้ตั้งคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต หรือ ไทแคค (Thailand Internet Crimes Against Children-TICAC Task Force) ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากหน้าที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา และ FBI ประจำกรุงเทพมหานคร โดย TICAC ได้ดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง จนสามารถจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังส่งเสริมแนวทางให้สังคมได้ตระหนักถึงภัยของการล่วงละเมิดทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งคณะทำงานของทีม TICAC ได้กระจายไปทั่วประเทศ มีทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค


ที่มาของโครงการจัดอบรม

โครงการพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานของชุดปฏิบัติการปราบปราม

การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TICAC)

ปัจจุบันปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ตได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเด็กเข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ตได้ง่าย ทำให้คนร้ายมีช่องทางในการล่อลวง ข่มขู่เด็ก ได้ง่ายเช่นกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีคำสั่งจัดตั้งชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TICAC) ขึ้น โดยมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปราม การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางระบบอินเทอร์เน็ต ที่จะต้องประสานงานและปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ รวมทั้งทำงานกับภาคสังคม NGOs เพื่อให้สามารถช่วย เหลือและดูแลเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลการปฏิบัติงานของคณะทำงานฯ จะถูกบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ของประเทศไทย (Thailand TIP Report) และจะมีผลต่อการจัดระดับการค้ามนุษย์ของประเทศไทยด้วย

แต่เนื่องจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และอาชญากรรมทางด้านนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาตัวแทนของชุดปฏิบัติการที่อยู่ในแต่ละส่วนภูมิภาคทั่วประเทศไทยให้มีความรู้ ความสามารถเท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และรู้เท่าทันแผนประทุษกรรมแบบใหม่ ๆ ของคนร้าย เพื่อให้เป็นต้นแบบที่จะสามารถไปพัฒนาบุคลากรภายในทีม และเป็นครูฝึกหลักในการปราบปรามอาชญากรรมด้านนี้ ให้กับหน่วยงานในระดับภูมิภาคของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากร ต่อยอดองค์ความรู้ในการสืบสวนทางเทคโนโลยี และการใช้พยานหลักฐานทางดิจิทัล ให้สามารถไปประยุกต์ใช้กับการป้อองกันปราบปรามอาชญากรรมทั่วไปได้ด้วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดฝึกอบรมตามโครงการพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานของชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TICAC)


วัตถุประสงค์

  • เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร แสดงความคิดเห็น นำปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ เข้าหารือ เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันของผู้ปฏิบัติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


  • เพื่อเข้าข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทาเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TICAC) มีความรู้ ความเข้าใจ แนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อสืบสวน สอบสวน และปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด



  • เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมพัฒนาแนวทางการสืบสวน สอบสวน โดยใช้เทคโนโลยี เพื่อนำไปขยายผลการกระทำความผิด และป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  • ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้รับความรู้ มีความเข้าใจ ทราบแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องมาะสม เพื่อสืบสวน สอบสวน และปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด


  • ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร แสดงความคิดเห็น ปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ และสามารถนำความรู้จากการแลกเปลี่ยนดังกล่าว ไปใช้ในการการปฏิบัติหน้าที่ของตน และเกิดการทำงานแบบบูรณาการระหว่าหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


  • ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้นำความรู้ไปพัฒนาแนวทางการสืบสวน สอบสวน โดยใช้เทคโนโลยี เพื่อนำไปขยายผลการกระทำความผิด และสามารถป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต

ติดต่อได้ที่ Email : ticacdirector@gmail.com